องค์ความรู้

องค์ความรู้ที่สำคัญเกี่ยวกับปูม้า

เพื่อความสำเร็จของธนาคารปูม้าแบบโรงเพาะฟักชุมชน

      1. ปูม้าเพศเมียความดกไข่ หรือจำนวนของไข่อยู่ระหว่าง 30,000 – 3,000,000 ฟอง (ขนาดความกว้างกระดองของปูม้าอยู่ระหว่าง 6.0 – 18.5 เซนติเมตร โดยเฉลี่ยแม่ปูม้าขนาดความกว้างกระดองประมาณ 12-14 เซนติเมตร มีจำนวนไข่ประมาณ 1,000,000 ฟอง)
      2. ความสมบูรณ์ของแม่ปูม้าไข่นอกกระดอง ปัจจัยที่ช่วยให้แม่ปูม้าสามารถพัฒนาไข่และฟักออกเป็นตัวอ่อน โดยธรรมชาติการเจริญเติบโตและการพัฒนาด้านระบบการสืบพันธุ์ของปูม้า จะต้องอาศัยปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมเป็นตัวสำคัญ ความเหมาะสมของคุณภาพจึงเป็นส่วนปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาด้านระบบการสืบพันธุ์ และอัตราการเพาะฟักของลูกปูวัยอ่อน ซึ่งชาวประมงจะสามารถสังเกตได้จากพื้นที่หรือแหล่งทำการประมงที่จับได้ปูม้าเพศเมียมีไข่นอกกระดองเป็นจำนวนมากนั้น จะเป็นพื้นที่ชายฝั่งทะเลอยู่ห่างฝั่งไปพอสมควร มีน้ำทะเลที่ใสสะอาด และมีการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพอันเนื่องมาจากอิทธิพลของน้ำจืดหรือตะกอนน้อยมาก
ในการศึกษาการเพาะฟักและอนุบาลปูม้าในระบบปิด หรือโรงเพาะฟักนั้น พบว่าปัจจัยด้านคุณภาพน้ำที่มีความสำคัญต่อการเพาะฟักและอัตราการรอดของลูกปูม้าได้แก่ ความเค็ม อุณหภูมิ ความขุ่นใสของน้ำทะเล
      3. อัตราการฟัก อัตราการฟักของไข่นอกกระดองที่มีสีต่างๆ ที่มีความเค็มน้ำ 30 ส่วนในพันส่วนในธนาคารปูจะไม่เท่ากัน คือ สีส้ม – เหลืองมีอัตราการฟักร้อยละ 88.17 สีน้ำตาลร้อยละ 84.94 สีเทาร้อยละ 66.12 และสีดำร้อยละ 65.23 เหตุที่ไข่สีเทาและสีดำมีอัตราการฟักค่อนข้างต่ำ เนื่องจากไข่ระยะนี้ใกล้ฟักเป็นตัวอ่อนในช่วงการลำเลียงแม่ปูอาจทำให้ไข่บอบช้ำจึงทำให้อัตราการฟักต่ำ ดังนั้นการลำเลียงแม่ปูที่มีไข่ติดหน้าท้องจึงควรลำเลียงอย่างระมัดระวังเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันมิให้ไข่บอบช้ำและแม่ปูเกิดความเครียด
      4. ความสมบูรณ์ของแม่ปูม้า แม่ปูม้าที่แข็งแรงและสมบูรณ์จะผลิตไข่ปูที่มีสุขภาพดีและแข็งแรง แม่ปูจะเขี่ยไข่แยกเป็นเม็ดเดี่ยวๆ และฟักเป็นตัวอ่อนระยะโซเอี้ย (Zoea) และไข่จะมีอัตราการฟักสูง สำหรับแม่ปูที่ไม่แข็งแรง หรือไข่นอกกระดองถูกกระทบกระเทือน แม่ปูจะเขี่ยไข่ทิ้งเป็นพวง และไข่จะไม่ฟักหรือมีอัตราการฟักต่ำ
      5. ระยะเวลาที่แม่ปูม้าอยู่ในโรงเพาะฟัก แม่ปูที่มีไข่แก่ติดหน้าท้องมีสีต่างๆ กันออกไป เนื่องจากไข่แก่ไม่เท่ากัน กล่าวคือ ไข่มีตั้งแต่สีส้ม – สีเหลือง น้ำตาล เทา และดำ ซึ่งไข่แต่ละสีใช้ระยะเวลาอยู่ในธนาคารปู และฟักเป็นตัวอ่อนไม่เท่ากัน โดยไข่สีส้ม – สีเหลือง ใช้ระยะเวลาอยู่ในธนาคารปู 4 – 7 วัน สีน้ำตาล 2 – 4 วัน สีเทา 1 – 3 วัน และสีดำ 1 – 2 วัน
      6. ความเค็มน้ำทะเล จากการศึกษาผลของความเค็มน้ำต่ออัตราการฟักของปูม้าสีน้ำตาลจากจับปิ้งในโรงเพาะฟักของวารินทร์ และภมรพรรณ ในปี 2548 พบว่าความเค็มของน้ำทะเลมีผลต่ออัตราการฟักของไข่ปูม้า ซึ่งการทดลองที่ 1 บ่มฟักไข่ปูม้าในน้ำที่มีความเค็ม 25 30 และ 35 ส่วนในพันส่วน มีอัตราการฟักของไข่ปูม้าร้อยละ 31.30 58.31 และ 66.84 ตามลำดับ และการทดลองที่ 2 ที่ระดับความเค็มน้ำ 25 27 และ 30 ส่วนในพันส่วน มีอัตราการฟักของไข่ปูม้า ร้อยละ 39.66 69.23 และ 79.56 ตามลำดับ ความเค็มของน้ำที่เหมาะสมในการฟักไข่ปูม้าอยู่ในช่วง 27-35 ส่วนในพันส่วน ซึ่งใกล้เคียงกับที่สุเมธ (2527) กล่าวว่า ปูม้าเพศเมียที่มีไข่แก่จะออกสู่ทะเลลึกที่มีความเค็มระหว่าง 28 – 32 ในพันส่วน
      7. บริเวณที่ปล่อยตัวอ่อนระยะโซเอี้ย ตัวอ่อนลูกปูระยะโซเอี้ยมีศัตรู (Predator) ค่อนข้างมากเช่น ลูกปลาหรือปลาขนาดเล็กที่กินตัวอ่อนลูกปูเป็นอาหาร บริเวณที่จัดตั้งธนาคารปูและปล่อยตัวอ่อน ควรมีที่หลบซ่อนตามธรรมชาติ เช่น บริเวณที่มีพืชป่าชายเลน แหล่งหญ้าทะเลซี่งเหมาะต่อการให้ตัวอ่อนลูกปูหลบซ่อน และมีโอกาสรอดมากขึ้น และการจัดทำธนาคารปูควรมีแม่ปูม้าเข้าธนาคารจำนวนมาก ซึ่งจะช่วยให้ลูกปูมีจำนวนมากและมีโอกาสรอดสูงขึ้นได้ในธรรมชาติ