รายละเอียดเกี่ยวกับโครงการ

ความสำคัญและที่มาของโครงการ

การจัดการและส่งเสริมธนาคารปูม้าแบบมีส่วนร่วมเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชน
ในจังหวัดตรังและกระบี่

      ปูม้า (Portunus pelagicus) มีถิ่นที่อยู่อาศัยและแพร่กระจายอยู่ในเขตร้อน สำหรับประเทศไทยสามารถพบปูม้าได้ทั่วไปในทุกจังหวัดที่มีชายฝั่งทะเล ผลผลิตปูม้าและผลิตภัณฑ์จากปูม้าเป็นที่นิยมบริโภคและเป็นที่ต้องการของตลาด สามารถทำรายได้ให้กับประเทศเป็นมูลค่าหลายพันล้านบาทต่อปี แต่เนื่องจากมีการทำประมงในปริมาณที่เกินกำลังผลิตของธรรมชาติอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานาน จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อการลดลงของประชากรปูม้าในธรรมชาติ รวมทั้งความสมดุลของระบบนิเวศวิทยาตามป่าชายเลน ปัจจุบันทรัพยากรปูม้ามีจำนวนลดลง ส่งผลกระทบต่อชาวประมงขนาดเล็กหรือชาวประมงพื้นบ้านเป็นอย่างมาก เนื่องจากกลุ่มชาวประมงชายฝั่งมีการประกอบอาชีพจับปูม้า กุ้งแซบ๊วย และปลาผิวน้ำ เป็นหลัก จากข้อมูลการประเมินสภาวะทรัพยากรปูม้าในบริเวณทะเลชายฝั่งอ่าวไทย และชายฝั่งอันดามันพบว่า สภาวะการประมงปูม้ามีสภาพเสื่อมโทรม ด้วยมีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเกินระดับที่มีการทดแทนได้ทัน สอดคล้องกับการศึกษาของธงชัยและอภิรักษ์ (2548) ที่รายงานสภาวะการประมงปูม้าในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งอ่าวสิเกา มีการใช้ประโยชน์เกินจากระดับที่เหมาะสมและยั่งยืนประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ จากระดับที่สมดุลของทรัพยากรปูม้า และการประเมินสภาวะทรัพยากรปูม้าในบริเวณชายฝั่งจังหวัดตรังปี 2550 พบว่ามีการใช้ประโยชน์เกินระดับที่เหมาะสมประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ สอดคล้องกับเสียงสะท้อนของชุมชนที่พบว่า ปัจจุบันปูม้าที่จับได้จากเครื่องมือประมงอวนจมปูและลอบปูมีจำนวนลดลง ขนาดของปูม้าเล็กลงเมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต

ปี 2549 ชาวประมงได้มีการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงปัญหา การลดลงของทรัพยากรปูม้าในบริเวณชายฝั่งจังหวัดตรัง มีการเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาในหลากหลายวิธี อย่างไรก็ตาม ชาวประมงและชุมชนส่วนใหญ่ยังไม่เห็นด้วยกับการลดปริมาณเครื่องมือ การปรับเปลี่ยนขนาดตาอวน หรือการควบคุมฤดูกาลทำการประมงปูม้า ด้วยเกรงว่าครอบครัวจะได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว ซึ่งอาจจะเกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นในพื้นที่ได้ด้วย การเสนอแนวทางการอนุรักษ์หรือการเพิ่มปริมาณปูม้ากลับคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณปูม้าทดแทนส่วนที่ถูกใช้ประโยชน์มากเกินควรด้วยวิธีธนาคารปูม้า คือการให้แม่ปูม้าไข่แก่นอกกระดองปล่อยไข่/ลูกปูแรกฟักสู่ธรรมชาติ จึงเกิดขึ้นในหลายชุมชน ทั้งจากการสนับสนุนงบประมาณของภาครัฐ และองค์กรเอกชน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน การดำเนินงานในระยะแรก พบว่าธนาคารปูม้าในแต่ละพื้นที่มีความสำเร็จ ชุมชนประทับใจกับโครงการที่ตนเองมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรปูม้าคืนสู่ธรรมชาติ มีการรวมกลุ่มกันในระยะแรก มีการแบ่งหน้าที่กันทำงาน แต่เมื่อระยะเวลาประมาณ 1-2 ปี ธนาคารปูม้าในแต่ละพื้นที่เริ่มล้มเหลว หรือล้มเลิกโครงการ ทั้งที่เกิดจากการหยุดสนับสนุนงบประมาณของโครงการ และชุมชนบางแห่งมีข้อจำกัดเกี่ยวกับคนทำงานด้วยมีเวลาไม่แน่นอนจากการทำประมงชายฝั่ง ขาดการเอาใจใส่ธนาคารปูม้า

ธนาคารปูม้าของบางชุมชนที่สร้างอยู่บริเวณทะเล ในช่วงฤดูมรสุมไม่สามารถทนต่อความรุนแรงของมรสุมได้ หรือในบางชุมชนมีการสร้างธนาคารปูม้าแบบกระชังลอยในบริเวณแม่น้ำที่ไหลออกสู่ทะเล ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ปูม้ามีอัตราการรอดต่ำ เพราะพฤติกรรมการวางไข่ของปูม้าต้องการความเหมาะสมของคุณภาพน้ำและสิ่งแวดล้อมหลายประการ ถึงแม้ว่าธนาคารปูม้าบางแห่งไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรแต่ความรู้สึกด้านจิตใจที่ชาวประมงรู้สึกผูกพันและชื่นชมในผลงานธนาคารปูม้าของตนเอง และคาดหวังว่าผลจากการทำงานด้านการอนุรักษ์ปูม้าของตนเอง เป็นสิ่งที่ช่วยให้ทรัพยากรปูม้าสมบูรณ์กลับสู่สภาวะปกติ ทำให้ชาวประมงมีความสุขทางจิตใจ

ธนาคารปูม้าในรูปแบบของโรงเพาะฟักชุมชน เป็นการนำแม่ปูม้ามาพักในโรงเรือนและรอให้ไข่ฟักออกเป็นตัว จากนั้นจึงนำลูกปูม้าไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ภายหลังจากการดำเนินการและสร้างเครือข่าย แลกเปลี่ยนข้อมูลกับชุมชนชาวประมงที่ประกอบอาชีพประมงปูม้า พบว่าธนาคารปูม้าในรูปแบบของ “โรงเพาะฟักปูม้าชุมชน” มีความเหมาะสมและสะดวกต่อการบริหารจัดการของชุมชนประมงชายฝั่ง เป็นการลดภาระและค่าใช้จ่ายให้กับกลุ่มชาวประมง และยังสามารถเพิ่มอัตราการรอดตายของลูกปูม้าวัยอ่อนด้วย ปูม้ามีความดกไข่ตั้งแต่ 400,000 – 1,700,000 ฟอง โดยเฉลี่ยปูม้าขนาดความกว้างกระดองประมาณ 10-12 เซนติเมตร มีความดกไข่ประมาณ 1,000,000 ฟอง และการศึกษาทดลองร่วมกับชุมชนพบว่า อัตราการฟักของไข่แม่ปูม้าไข่นอกกระดอง อยู่ที่ 60 – 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งใกล้เคียงกับการศึกษาวิจัยของกรมประมงที่รายงานอัตราการฟักเป็นตัวอยู่ที่ 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากมีการส่งเสริมธนาคารปูม้าในรูปแบบโรงเพาะฟักปูม้าชุมชน จะพบว่าแม่ปูม้า 1 ตัวจะผลิตปูม้าวัยอ่อนประมาณ 500,000 ตัว เพื่อปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ ซึ่งบรรจง (2550) กล่าวว่าปูม้าที่ปล่อยสู่ธรรมชาติสามารถคาดหวังอัตรารอด และเติบโตเข้าข่ายประมงเพียง 0.001 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นจะมีจำนวนปูม้าที่เหลือรอดจนขนาดที่สามารถทำการประมงได้ (น้ำหนักประมาณ 100 กรัม) ประมาณ 5 ตัวต่อแม่ปูม้า 1 ตัว ซึ่งจะสร้างมูลค่าได้ถึง 10,000 – 20,000 บาท

คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบการขยายผลธนาคารปูม้าเพื่อ “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” ไปสู่ชุมชนบริเวณชายฝั่ง โดยให้สำนักงานการวิจัย (วช.) เป็นหน่วยงานบูรณาการหลัก และอีกหลายหน่วยงานร่วมดำเนินการนำองค์ความรู้จากผลการวิจัยและนวัตกรรมเดิมมาต่อยอดหรือวิจัยเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มอัตราการรอดตายของลูกปูม้าก่อนปล่อยคืนสู่ทะเล และขยายผลสำเร็จของธนาคารปูม้าที่มีอยู่ไปสู่ชุมชนอื่น ๆ อย่างเหมาะสมกับบริบทพื้นที่และสภาวะชุมชน คืนความสมดุลให้ทรัพยากรทางทะเล ตลอดจนการสนับสนุนการตลาดในทุกรูปแบบเพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าอันจะนำมาซึ่งการสร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชนต่อไป

การดำเนินงานธนาคารปูม้าโดยชุมชน ภายใต้โครงการการจัดการและส่งเสริมธนาคารปูม้าแบบมีส่วนร่วมเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี และเพื่อมุ่งยกระดับการดำเนินการกิจกรรมธนาคารปูม้าในพื้นที่ของชุมชนกลุ่มจังหวัดตรังและกระบี่ เพื่อต้องการเพิ่มจำนวนชุมชนประมงชายฝั่งที่ประกอบอาชีพประมงปูม้าเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมธนาคารปูม้า โดยการสร้างระบบการทำงานเชิงเครือข่าย เนื่องจากทรัพยากรปูม้าเป็นทรัพยากรร่วมของทุกคน หากทุกชุมชนพร้อมใจกันอนุรักษ์ทรัพยากรปูม้าจะเพิ่มจำนวนทดแทนปริมาณปูม้าในธรรมชาติ เพื่อปรับสมดุลให้เพียงพอต่อการใช้ประโยชน์ของชาวประมงในอนาคต ในการนี้ทางเครือข่ายธนาคารปูม้า ขอรับการสนับสนุนโครงการส่งเสริมกิจกรรมธนาคารปูม้า เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่งคงของชุมชนชายฝั่งในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน อันเป็นการเสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาชาวประมงให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และสามารถรับผิดชอบกิจกรรมธนาคารปูม้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ