โครงการสาหร่ายพวงองุ่นอินทรีย์

ความสำคัญ และที่มาของปัญหา

           สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบัน รัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนา และแสวงหาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะสาหร่ายทะเลที่เป็นอาหาร มีคุณค่าทางโภชนาการ สามารถใช้ประโยชน์ได้หลาย ๆ ด้าน และมีมูลค่าเป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งสาหร่ายทะเลในสกุล Caulerpa กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งใน และต่างประเทศ สาหร่ายทะเลจึงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ จีนเป็นชาติแรกที่ใช้ประโยชน์จากสาหร่ายสำหรับเป็นยาและอาหาร (กาญจนภาชน์, 2527) ส่วนญี่ปุ่นนิยมใช้สาหร่ายทะเลเป็นอาหาร โดยใช้ในรูปผัก เครื่องปรุงรส เครื่องเคียง และยังนำมาใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้ง อุตสาหกรรมอาหาร ยา และเครื่องสำอาง ฯลฯ (Burtin, 2003) เพราะสาหร่ายประกอบด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ มีไขมันต่ำ โปรตีนและเยื่อใยสูง การบริโภคสาหร่ายจึงมีแนวโน้มในการให้ผลที่ดีด้านสุขภาพ ประเทศไทยพบสาหร่ายหลายกลุ่มทั้งบริเวณภาคใต้ชายฝั่งทะเลอ่าวไทย และอันดามัน สาหร่ายมีสัดส่วนของคุณค่าทางอาหารแตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่มสารอาหารสำคัญที่พบเจอในสาหร่าย ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน กรดอะมิโนจำเป็น กรดไขมันจำเป็น เยื่อใย วิตามิน และแร่ธาตุ ซึ่งให้ปริมาณสูงกว่าพืชอาหารที่ปลูกบนบก (Burtin, 2003) สาหร่ายทะเลสีเขียวสกุล Caulerpa มีรงควัตถุคาโรทีนอยด์ เข่นเดียวกับในพืชชั้นสูงทั่วไป โดยเฉพาะสาหร่ายพวงองุ่น (Caulerpa lentillifera) ซึ่งมีลักษณะคล้ายพวงองุ่นจึงเรียกสาหร่ายชนิดนี้ว่า sea grapes หรือ green caviar (Lewmanomont และ Ogawa, 1995) ดังนั้น สาหร่ายพวงองุ่นจึงเป็นสาหร่ายทะเลอีกชนิดหนึ่งที่มีศักยภาพในการนำมาพัฒนาเพื่อการเพาะเลี้ยง การแปรรูปเพื่อการบริโภค ตลอดจนพัฒนาเรื่องการตลาดและความยอมรับของผู้บริโภคเพื่อการส่งออกเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ประเทศอีกทางหนึ่ง
          สำหรับประเทศไทย สาหร่าย Caulerpa สามารถพบการแพร่กระจายในชายฝั่งทะเลอันดามัน เช่น จังหวัดสตูล ตรังและกระบี่ โดยมีการนำมาบริโภคสดเป็นหลักและมีรายงานนำไปใช้บำบัดน้ำเสีย นอกนั้นไม่มีการนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นน้อยมาก ซึ่งปัจจุบันผลผลิตของสาหร่ายนี้จะได้มาจากการเก็บในธรรมชาติ ซึ่งพบได้ช่วงฤดูร้อนเท่านั้น นอกจากนั้นผลผลิตก็ไม่แน่นอนและเพียงพอต่อความต้องการของตลาด จึงมีการนำสาหร่ายชนิดมาเลี้ยงในโรงเรือนเพื่อให้ได้ผลผลิตตลอดทั้งปีและเพียงพอกับความต้องการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยประสบผลสำเร็จในการทดลองเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น (C. lentillifera) แบบอินทรีย์
          ดังนั้นจากหลักการและเหตุผลดังกล่าว คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ได้ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อการให้บริการทางวิชาการแก่สังคม จึงจำเป็นต้องจัดโครงการวิจัยเพื่อสังคมในพื้นที่ชายฝั่งจังหวัดอันดามัน โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชายฝั่งและเพิ่มมูลค่าสาหร่ายพวงองุ่นแทนการจำหน่ายแบบสดเพียงอย่างเดียว ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมย่อย 2 กิจกรรม คือ
กิจกรรมย่อยที่ 1 เผยแพร่และส่งเสริมความรู้ทางวิชาการทางด้านการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น
(C. lentillifera) แบบอินทรีย์
กิจกรรมย่อยที่ 2 การพัฒนาผลิตภัณฑ์สาหร่ายพวงองุ่น (C. lentillifera) แบบอินทรีย์และนำไปใช้ประโยชน์สู่ชุมชน

โครงการ

โครงการ Research for Community วิจัยเพื่อชุมชนสังคม

img

ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) การส่งเสริมอาชีพการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น (Caulerpa lentillifera) แบบอินทรีย์เพื่อสร้างอาชีพทางเลือกให้กับชุมชนชายฝั่ง (ภาษาอังกฤษ) Promotion of green caviar (Caulerpa lentillifera) culture using organic system to create alternative careers for coastal communities.

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง - RUTS